ข้อมูลอัพเดต ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2566

กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง

กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง เป็น 1 ใน 4 กลุ่มคนเป้าหมายการดำเนินการของ ศจพ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลหลายฐาน ประกอบด้วย ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (กรมการพัฒนาชุมชน) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(กระทรวงการคลัง) ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและจัดทำข้อมูลทางด้านการเกษตรแบบเปิดเชื่อมโยงกับศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (Farmer ONE) (สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง หมายถึง ครัวเรือนที่มีบุคคลเปราะบางซึ่งเป็นบุคคลในภาวะพึ่งพึงที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและดูแลจากครอบครัว เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น และ/หรือเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท) ได้มีการแบ่งประเภทของระดับครัวเรือนเปราะบาง ดังนี้

1. ครัวเรือนเปราะบาง ระดับ 3ครัวเรือนที่มีผู้มีภาวะพึ่งพิงมากกว่า 2 คนในครัวเรือน และเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

2. ครัวเรือนเปราะบาง ระดับ 2 ครัวเรือนที่มีผู้มีภาวะพึ่งพิง 1 หรือ 2 คนในครัวเรือน และเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

3. ครัวเรือนเปราะบาง ระดับ 1 ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และ/หรือ มีปัญหาที่อยู่อาศัย

4. ครัวเรือนเปราะบาง ระดับ 0 ครัวเรือนที่ไม่เป็นครัวเรือนรายได้น้อย แต่มีผู้มีภาวะพึ่งพิงในครัวเรือน


กลุ่มคนเป้าหมายการดำเนินการของ ศจพ. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

ประกอบด้วย 4 กลุ่มเป้าหมาย

1. กลุ่มเป้าหมายของระบบ TPMAP เป็นกลุ่มคนที่ตกเกณฑ์ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI) 1 ใน 5 มิติความขัดสน ((1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (2) การศึกษาและทักษะที่จำเป็น (3) สถานะทางสุขภาพ (4) คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ (5) การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม) ประกอบด้วย กลุ่มได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

2. กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง อ้างอิงตามกลุ่มครัวเรือน/คนเปราะบาง

3. กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และได้รับการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานแต่ไม่ตกเกณฑ์มิติความขัดสน MPI และกลุ่มที่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ไม่มีข้อมูลมิติความขัดสน MPI

4. กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ TPMAP (Exclusion error) กลุ่มคนที่ไม่ได้มีข้อมูลจัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งของระบบ TPMAP ทั้งในฐานของการบูรณาการฐานข้อมูลหรือข้อมูลในระดับพื้นที่ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นคนเร่ร่อน กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มคนไทยที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน


การพัฒนาคนทุกช่วงวัย

การพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระบบ TPMAP อ้างอิงจากแนวทางการพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยแบ่งเป็น 5 ช่วงวัยหลัก ๆ ดังนี้

1. เด็กแรกเกิด/ปฐมวัย (อายุ 0-5 ปี)

2. วัยเรียน (อายุ 5-14 ปี)

3. วัยรุ่น/นักศึกษา (อายุ 15-21 ปี)

4. วัยผู้ใหญ่/วัยแรงงาน (อายุ 18-59 ปี)

5. วัยผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

โดยจะเป็นการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต อาทิ

• การเตรียมความพร้อมให้แก่พ่อแม่ก่อนตั้งครรภ์

• การปลูกฝังความเป็นคนดี มีวินัย ในช่วงวัยเรียน

• การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ


คนจนเฉียบพลัน

คนจนเฉียบพลัน กลุ่มคนจนที่เกิดจากวิกฤตในประเทศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ


คนทุกช่วงวัย

คนทุกช่วงวัยตั้งแต่ช่วงการตั้งครรภ์ ปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยผู้สูงอายุ


คนรั่วไหลในระบบ TPMAP (inclusion error)

บุคคล/ครัวเรือนที่มีข้อมูลในระบบ TPMAP ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง (inclusion error) โดยต้องปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน


ครอบครัว

บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่มีความผูกพันทางสายโลหิต หรือทางกฎหมาย หรือเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวต่างมีบทบาทหน้าที่ต่อกัน และมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน โดยจำแนกประเภทตามโครงสร้างครอบครัว แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ครอบครัวขยาย และ ครอบครัวเดี่ยว (รายลเอียดเพิ่มเติมตามข้อ 9 และ 10) ทั้งนี้ โครงสร้างบางครอบครัวจะมีลักษณะเฉพาะความต้องการและความช่วยเหลือแตกต่างกันไป โดยสามารถจำแนกครอบครัวตาลักษณะเฉพาะได้ 6 ลักษณะคือ

1. ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว (ครอบครัวที่พ่อหรือแม่เลี้ยงบุตรตามลำพัง)

2. ครอบครัวข้ามรุ่น (ครัวเรือนที่ประกอบด้วยคน 2 รุ่น คือ รุ่นปู่ ย่า ตายาย และรุ่นหลาน ส่วนรุ่นพ่อแม่นั้นขาดหายไป)

3. ครอบครัวผู้สูงอายุ (ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป โดยไม่มีสมาชิกช่วงวัยอื่นอาศัยอยู่ด้วย)

4. ครอบครัวคู่รักเพศเดียวกัน (ครอบครัวที่มีเพศเดียวอาศัยอยู่ในฉันสามีภริยา)

5. ครอบครัวผสม (ครอบครัวชายหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีบุตรติดมาและได้สมรสและอาศัยอยู่ในฉันสามีภริยาเป็นครอบครัวใหม่)

6. ครอบครัววัยรุ่น (ครอบครัวที่ชายและหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี อาศัยอยู่ในฉันสามีภริยา)


ครอบครัวขยาย

ครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่ 3 รุ่นขึ้นไป ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน และอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน อาทิ สามีภรรยาและลูกรวมทั้ง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และอาจมีญาติฝ่ายสามีและภรรยาอาศัยอยู่รวมกัน


ครอบครัวเดี่ยว

ครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลที่ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยาอาจมีหรือไม่มีบุตร /ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูก/ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่มีพ่อหรือแม่อยู่กับลูก


ครัวเรือน

บุคคลหรือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันและกินอยู่ร่วมกันในสถานที่เดียวกันจำนวน 6 เดือน เป็นอย่างน้อย โดยจำแนกออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. ครัวเรือนคนเดียว ได้แก่ ครัวเรือนซึ่งประกอบด้วยบุคคลคนเดียวโดยไม่เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกของครัวเรือนอื่นใดที่อยู่ในบ้านเดียวกันหรือบุคคลคนเดียวอาศัยอยู่ตามลำพังในบ้านหลังหนึ่ง

2. ครัวเรือนที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ได้แก่ ครัวเรือนที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป อยู่รวมกันในบ้านเดียวกัน หรือส่วนหนึ่งของบ้าน และร่วมกันในการจัดหาและใช้สิ่งอุปโภค บริโภคอันจำเป็นแก่การครองชีพของบุคคลกลุ่มนั้น บุคคลเหล่านี้อาจเป็นญาติกัน หรือไม่เป็นญาติกันเลย


ความยากจน

การวัดความยากจนในระบบ TPMAP จะเป็นการนำดัชนีความยากจนหลายมิติระดับประเทศ (National MPI) มาประยุกต์ใช้ เนื่องจากความยากจนมีได้หลายมิติมากกว่ามิติรายได้ ซึ่ง สศช. เป็นผู้กำหนดมิติความยากจนต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีการกำหนดมิติความยากจนไว้ 5 มิติ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ และด้านรายได้


ทีมพี่เลี้ยง

บุคคลที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกทีมพี่เลี้ยง ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายวิกฤต ประกอบด้วย ข้าราชการ นักศึกษา ผู้นำชุมชน หรืออื่น ๆ ตามความเหมาะสมเพื่อดูแลและติดตามการพัฒนากลุ่มเป้าหมายนำไปสู่ความพอเพียงยั่งยืนต่อไป


ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index: MPI)

การวัดความขัดสนของประชากรในระบบ TPMAP ใน 5 มิติ ประกอบด้วย (1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (รายได้) (2) การศึกษาและทักษะที่จำเป็น (การศึกษา) (3) สถานะทางสุขภาพ (สุขภาพ) (4) คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ (ความเป็นอยู่ ) (5) การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม (การเข้าถึงบริการของรัฐ) ทั้งนี้ ในอนาคตเมื่อระบบ TPMAP มีข้อมูลที่ครอบคลุมประชากรในมิติการพัฒนาต่าง ๆ ครบถ้วนมากขึ้น อาจสามารถปรับปรุงมิติการพัฒนา ตัวชี้วัด และค่าคะแนน (cut-off) โดยสามารถกำหนดให้มีทั้งค่ากลางในระดับประเทศ (National MPI) และในระดับพื้นที่ เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้การกำหนดคนเป้าหมายในพื้นที่จะต้องพิจารณาความสอดคล้องกับภูมิสังคม ทรัพยากร บุคลากร และเครื่องมือ ที่มีในแต่ละพื้นที่ด้วย


ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หมายถึง ผู้ที่ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พิการ/ทุพพลภาพ ต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง


ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการหรือต้องรักษาติดต่อกันนานต่อเนื่อง เป็นระยะเวลานาน อาทิ โรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง โรคเอดส์ โรคหรือการบาดเจ็บของสมอง


เมนูแก้จน

แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน หรือ เมนูแก้จน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ศจพ.จ. ศจพ.อ./ศจพ.ข./ศจพ.ทน./ศจพ.ทม./ศจพ.เมืองพัทยา และทีมปฏิบัติการฯ ในพื้นที่ โดยมีข้อมูลมาตรการ/โครงการ/การดำเนินการ รวมถึงงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องในประเด็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาการจัดทำและออกแบบโครงการ/การดำเนินการในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยแบบพุ่งเป้าในพื้นที่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและทรัพยากรในแต่ละพื้นที่โดยจำแนกตาม 5 มิติของความขัดสน ประกอบด้วย (1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (2) การศึกษาและทักษะที่จำเป็น (3) สถานะทางสุขภาพ (4) คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ (5) การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม และ 3 ขั้นของการพัฒนา ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน